เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเครื่องมือในการวัดเงินเฟ้อมันมีหลายตัวจัง แล้ว CPI กับ PCE คืออะไร มีความแตกต่างกันยังไง ทำไม FED ถึงชอบใช้ PCE ในการวัดเงินเฟ้อมากกว่า? โพสต์นี้มีคำตอบ !!!
CPI ย่อมาจากคำว่า Consumer Price Index สรุปให้เข้าใจง่ายๆ มันคือตัวที่ใช้วัดค่าเฉลี่ยราคาสินค้าในตลาดจาก 8 หมวดหมู่ ตามนี้
1.ค่าเช่าบ้าน (Housing)
2.เครื่องนุ่งห่ม (Apparel)
3.อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverages)
4.ค่ารักษาพยาบาล (Medical Care)
5.ค่าการขนส่ง (Transportation)
6.การสื่อสารและการศึกษา (Education and Communication)
7.การพักผ่อนหย่อนใจ (Recreation)
8.สินค้าด้านบริการอื่นๆ (Other Goods and Services)
ซึ่งจะมีอยู่อีกค่าที่เรียกกันว่า Core CPI ที่จะเป็นการตัดสินค้าประเภทอาหารและพลังงานออกไปจากสูตรการคำนวณ
ส่วนทางด้าน PCE นั้นย่อมาจากคำว่า Personal Consumption Expenditure โดยถ้าจะอธิบายให้ฟังง่ายๆ มันก็คือค่าเฉลี่ยรายจ่ายส่วนบุคคลที่ใช้สำหรับการบริโภคนั้นเอง ค่า PCE จะคำนวณมาจากค่าใช้จ่ายทุกๆ อย่างที่ผู้คนใช้จ่ายไปจริงๆ ไม่เหมือนกับ CPI ที่เมื่อสินค้าใดไม่เข้าข่าย 8 หมวดหมู่ก็จะไม่นำมาคำนวณกับค่า CPI
ความแตกต่างหลักๆ ของ CPI กับ PCE จะอยู่ที่ขอบเขตของสินค้าและบริการที่นำมาคำนวณ โดยที่ PCE นั้นจะเป็นค่าที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ในยุคปัจจุบันมากกว่า เพราะสินค้าใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นมาในตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น การซื้อ Smartphone ที่ปัจจุบันเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับหลายๆ คน หรือ ค่าประกันสังคมของพนักงาน ถ้าเป็นส่วนของ PCE ก็จะนำมาคำนวณเป็นลักษณะของค่าใช้จ่ายรวม แต่ถ้าเป็น CPI ก็จะถูกนำไปจัดเป็นหมวดหมู่ซะก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงค่อยนำมาหาค่าเฉลี่ยเป็น CPI
หลายคนอาจกำลังตั้งข้อสงสัยกันอยู่ว่า มันก็เอามาคำนวณเหมือนกันไม่ใช่เหรอ แล้วมันต่างกันยังไง เราขอยกตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ แบบนี้ สมมติว่า PCE คือการตัดเกรดรายวิชาแบบที่ทุกวิชานั้นมีหน่วยกิตเท่ากัน ดังนั้นสินค้าทุกอย่างที่เราทำการจ่ายเงินเพื่อซื้อไปเลยจะมีความสำคัญเท่าๆ กัน แต่ถ้าเป็นฝั่งของ CPI จะเหมือนกับการตัดเกรดแบบที่แต่ละวิชามีหน่วยกิตที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการซื้อสินค้าในหมวดหมู่ที่ CPI ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อให้มีค่าใช้จ่ายเท่ากับ PCE ก็จะถูกนำค่ามาคำนวณได้น้อยกว่านั้นเอง เรียกได้ว่า CPI กับ PCE นั้นจะมองคุณค่าสินค้าแตกต่างกัน PCE จะมองสินค้าทุกอย่างเท่าเทียมกัน แต่ CPI จะมองสินค้าแยกออกเป็นหมวดหมู่ซึ่งแต่ละหมวดหมู่ก็จะมีการเรียงลำดับความสำคัญนั้นเอง
ทีนี้เรามาดูกันที่คำถามถัดไป ว่าทำไม FED ถึงชอบใช้ค่า PCE ในการคำนวณเงินเฟ้อมากกว่า CPI ?
ต้องบอกก่อนเลยว่าจริงๆ แล้วในช่วงก่อนปี 2000 ทาง FED นั้นจะใช้ค่า CPI ในการคำนวณเงินเฟ้อเป็นหลักเพื่อความหลากหลายของสินค้านั้นยังไม่ได้มีมากเท่าปัจจุบันแต่หลังจากปี 2000 เป็นต้นมาทาง FED ก็ได้เริ่มปรับเปลี่ยนไปใช้ค่า PCE ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อแทนเพราะมันสามารถรองรับกับสินค้าที่หลากหลายได้มากกว่า แถมยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมอย่างเรื่องของ สงคราม หรือ วิกฤตพลังงานน้อยกว่าด้วย
อีกเหตุผลที่ FED ได้ให้ไว้สำหรับการคำนวณอัตราเงินเฟ้อจากค่า PCE เป็นหลักก็เพราะว่าค่า PCE นั้นมีความเสถียรที่มากกว่า CPI โดยอย่างที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่าหากสินค้าประเภทที่ CPI ให้ความสำคัญมีปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นค่า CPI ก็จะดีดขึ้นมาทันที ซึ่งทาง FED มองว่านั้นมันไม่ใช่อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงแต่อย่างใด
ถึงทาง FED จะใช้ค่า PCE ในการมองอัตราเงินเฟ้อเป็นหลักและเป็นค่าที่ใช้บนโต๊ะประชุมของ FOMC แต่ก็ไม่ใช่ว่า FED นั้นจะไม่นำค่า CPI มาคำนวณเลยซะทีเดียว จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่างซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็น CPI หรือ PCE ก็ยังคงเป็นค่าที่มีความสำคัญและส่งผลต่อตลาดการลงทุนต่างๆ ได้อยู่ดี