ตั้งแต่ปี 1982 ค่า CPI ไม่เคยกลับไปแตะระดับ 9 อีกเลยจนถึงในปีนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา [เดือนกรกฎาคม 2022] ค่า CPI ก็ได้กลับไปทะลุระดับ 9 อีกครั้งในรอบ 40 ปี สิ่งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อไป แล้วจะมีอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ได้บ้างนะ
เราอาจจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า CPI นั้นมันค่าอะไรกันแน่ ทำไมมันถึงส่งผลต่อตลาดต่างๆ ขนาดนั้น
CPI มาจากคำว่า Consumer Price Index หรือถ้าแปลเป็นไทยเราจะเรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นค่าเฉลี่ยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ ทั้ง ค่าพลังงาน อาหาร การรักษาพยาบาล ที่อยู่ เสื้อผ้า และอื่นๆ โดย CPI นั้นจะเป็นค่าเฉลี่ยนึงที่สามารถใช้เป็นตัวคำนวณเรื่องของอัตราเงินเฟ้อได้
ยิ่ง CPI สูงก็ยิ่งส่อว่าอัตราเงินเฟ้อนั้นยิ่งสูงตามนั้นเอง
และแน่นอนว่าจากการประกาศค่า CPI ล่าสุดในเดือนนี้เอง ที่ออกมาในตัวเลข 9.1 ก็ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นั้นกำลังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจจะรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี ! ถึงแม้ว่าทาง FED สหรัฐฯ นั้นจะพยายามทั้งขึ้นดอกเบี้ยแบบก้าวกระโดดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายสิบปี รวมถึงการออกนโยบายการทำ QT [ดึงเงินกลับจากตลาดเพื่อนำไปทำลาย] แล้วแต่ก็ยังไม่สามารถเบรกความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นได้
สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ
– สหรัฐฯ จะกล่าวโทษว่าเงินเฟ้อและปัญหาทุกๆ อย่างเกิดจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ไม่ได้เกิดจากการที่สหรัฐฯ พิมพ์เงินเล๊ยยย
– อัตราการว่างงานสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทต่างๆ จะปรับลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง
– ผลกระทบจากการว่างงานของคนในสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจะเร่งการเกิด Recession [สภาวะเศรษฐกิจถดถอย]
– ตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงจะถูกลดมูลค่าลงอย่างต่อเนื่อง
– อาจก่อให้เกิด Stagflation [Stagnation + Inflation] ได้ ซึ่งเป็นสภาวะที่แก้ยากมากๆ มันคือสภาวะที่เศรษฐกิจไม่โต แต่เงินเฟ้อกลับสูงมากๆ ขึ้นดอกเบี้ยเยอะๆ ก็ไม่ได้เศรษฐกิจจะพังมากกว่าเดิม ลดดอกเบี้ยเยอะๆ ก็ไม่ได้เงินเฟ้อจะพุ่งทะลุเพดาน
สรุป : เศรษฐกิจแย่ รายได้ลดลง การวางงานสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าข้าวของแพงขึ้น
เรียนรู้จากอดีต [ช่วงปี 1970-1983]
ในช่วงนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการสลับขึ้น-ลงนโยบายทางการเงินแบบรวดเร็ว เห็นเงินเฟ้อแรงรีบขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ แรงๆ ทำให้เศรษฐกิจชะงัก พอเศรษฐกิจชะงักรีบปรับลดดอกเบี้ยทำให้เงินเฟ้อดีดตัวกลับ สลับแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนแทบจะคุมเงินเฟ้อไม่อยู่
** ช่วงนั้นดอกเบี้ยรุนแรงมากที่สุดจาก FED คือ 19% ในช่วงปี 1980-1981 [เนื่องจากกลัวเงินเฟ้อ] ช่วงนั้นเกิด Recession ยาวนานถึง 16 เดือน ปกติจะเกิดนานแค่ 6-9 เดือนเท่านั้น
** ค่า CPI สูงสุดในขณะนั้นอยู่ที่ 14.80%
วิธีการรับมือหากเกิด Stagflation & Recession
🎯 เก็บเงินสำรองเพื่อใช้ในช่วงฉุกเฉิน
🎯 ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น
🎯 พยายามลดการกู้ยืมเงินจากธนาคารและช่องทางต่างๆ
🎯 ชำระเงินให้ตรงเวลา หากมีความจำเป็นที่ต้องกู้ยืมเงินจากธนาคาร
🎯 ลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม
🎯 ศึกษาความรู้กับทักษะใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน
🎯 เช็คสิทธิ สวัสดิการต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อรับเงินชดเชยสำหรับการว่างงาน
🎯 หาช่องทางในการสร้างรายได้หลายๆ ทาง [เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เราทำหลายๆ อาชีพพร้อมๆ กันได้]