เคยสงสัยกันไหม? เงินของเราที่ฝากใน Exchange เค้าเก็บกันยังไง ปลอดภัยจริงไหม?
โดยปกติ กลต.จะมีการเข้ามาควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านทางพ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พศ. 2561 ซึ่งหลายๆคนอาจจะกำลังสงสัยว่าแล้วเงินที่เราฝากกันเข้าไปบน Exchange ไปอยู่ตรงไหนบ้าง ? ถือไว้เองหมดเลยหรือเปล่า ? หรือว่าเก็บไว้ที่ไหน ?
มาเริ่มกันที่เงินสดก่อน ในส่วนของเงินสด เวลาที่เราโอนเงินเข้าไปในบัญชีของ Exchange บัญชีนั้นจะเป็นบัญชีที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารตามกฎหมาย และต้องระบุในบัญชีว่าเป็นการดำเนินการโดย Exchange เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเท่านั้นด้วย
และถ้าหากไม่ใช้ระบบอัตโนมัติในการถอนเงิน และมีการถอนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องใช้ระบบ Multi-sig หรือการเซ็นยืนยันอย่างน้อย 2 คนถึงจะสามารถถอนได้
ก่อนจะไปดูฝั่งของเงินที่เป็นคริปโตฯ จะมีคำอีกสองคำที่ควรรู้จักกันก่อน นั่นก็คือคำว่า Hot Wallet และ Cold Wallet
Hot Wallet หรือ Software Wallet หมายถึง กระเป๋าเงินที่มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น MetaMask ที่จะมีจุดด้อยตรงที่ ความปลอดภัยของเหรียญก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอย่างความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ
Cold Wallet หรือ Hardware Wallet ที่เราใช้กันอยู่ ก็จะเป็นกระเป๋าเงินที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวของเหรียญที่เราเก็บไว้จะ Offline ไปด้วยนะ อย่าลืมว่า เหรียญคริปโตฯจะออนไลน์อยู่บนบล็อกเชนตลอดเวลา เวลาที่เราพูดถึง Hardware Wallet นั้น จริงๆแล้วเราพูดถึง Private Keys ที่เก็บไว้ในชิปรักษาความปลอดภัยภายใน Hardware Wallet มากกว่า
มาต่อกันที่เงินที่เป็นคริปโตฯ ก็จะมีการแยกเป็นเฉพาะส่วนที่เป็นของลูกค้าเท่านั้นเช่นกัน แต่จะมีหลักการละเอียดเพิ่มเติมว่า
1. ต้องเก็บส่วนของลูกค้าไว้ใน Cold Wallet (กระเป๋าที่แยกที่ไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต) อย่างน้อย 90%
2. ถ้าหากคริปโตฯของลูกค้ามีมูลค่ามากกว่า 15 ล้านบาทเกิน 5 วันติดต่อกัน จะต้องเอาเงินจาก Cold Wallet อย่างน้อย 80% ไปฝากไว้ที่ 3rd party custodian ภายใน 45 วัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการทุจริตและการถูกขโมย
หมายความว่า ในสัดส่วนคริปโตฯของลูกค้าทั้งหมด 100% จะถูกเก็บไว้ใน Hot Wallet (กระเป๋าออนไลน์) 10% เก็บไว้ใน Cold Wallet 10% และเก็บไว้ที่ 3rd party custodian 80%
ที่สำคัญก็ยังคงต้องมีคนเซ็นรับรองอย่างน้อย 2 คนเหมือนเดิมในการทำธุรกรรมต่างๆกับกระเป๋าของลูกค้า
ซึ่งกลต.เองก็ระบุเลยว่า การฝากเงินไว้กับ Custodian เป็นแค่การเก็บไว้เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการออมหรือการลงทุน และที่สำคัญ ตัวของ Custodian ก็ไม่สามารถนำเงินของลูกค้าไปลงทุนอะไรได้
ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มี Digital Asset Custodian ที่ได้รับใบอนุญาตจากก.ล.ต. เลยต้องใช้บริการของต่างประเทศไปก่อน ซึ่งล่าสุดก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นธนาคารพาณิชย์นี่แหละ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแบงค์ชาติว่าจะอนุญาตหรือเปล่า