เหตุผลหนึ่งที่ Fed ไม่ขึ้นดอกเบี้ย อาจมาจาก Bullwhip Effect ?
ในขณะที่ทุกคนกำลังพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจถดถอย, เงินเฟ้อรุนแรง หรือแม้แต่อื่นๆที่ใหญ่กว่านั้น มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจาก Michael Burry ซึ่งถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง THE BIG SHORT ที่เกี่ยวกับ ‘วิกฤตซับไพร์ม’ ในสหรัฐฯจะต้องรู้จักกันในชื่อเสียงของคนที่สามารถทำนายการเกิดวิกฤตซับไพร์มหรือที่คนไทยเรียกว่า ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ ในตอนนั้นได้อย่างถูกต้อง
Michael Burry บอกว่า Fed อาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกเลยก็ได้ เผลอๆอาจจะลดดอกเบี้ยเลยด้วยซ้ำ! อ่าว แต่ทั้งโลกกำลังมองขึ้นดอกเบี้ยอยู่นะ!
ทำไมล่ะ ? ก็ต้องมาทำความรู้จักกับ Bullwhip Effect กันก่อน Bullwhip แปลตรงตัวได้ว่า ‘แส้ม้า’ ที่ต้องชื่อแส้ม้าเพราะว่า เวลาที่เราสะบัดแส้แค่นิดเดียว ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ที่ปลายแส้ได้แล้ว
Bullwhip Effect ก็เช่นกัน ปรากฎการณ์นี้พูดถึงเหตุการณ์ใน Supply Chain หรือว่าห่วงโซ่อุปทาน ที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากฝั่งของ Demand หรือผู้ซื้อเพียงนิดเดียว ก็สามารถส่งผลกระทบไปหาฝั่งของผู้ผลิตทั้งระบบได้
พูดง่ายๆก็คือ ทุกคนพากันเผื่อจนของเหลือ สมมติว่าเดิมที ของมี 5 ชิ้น แต่ลูกค้ามา 10 คน (เกิดปัญหาของขาด) ร้านค้าก็คิดว่าถ้าเอามา 10 ชิ้นก็ดี เผื่อซักหน่อยด้วย เลยสั่ง Supplier ไป 15 ชิ้น ซึ่ง Supplier คิดเผื่อไปอีกเป็น 20 ชิ้น กลายเป็นว่าผู้ผลิตมาเผื่ออีกเป็นทั้งหมด 25 ชิ้น แต่ความต้องการจริงๆอาจจะมีแค่ 10 ชิ้นหรือน้อยกว่านั้นก็ได้ สุดท้ายเลยเกิดเป็นปัญหาที่ของล้นตลาดแทน
ซึ่งพอของเยอะกว่าความต้องการ ราคาสินค้าลดลง แน่นอนว่า ถ้า Fed ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป คนก็ไม่มีเงินเพื่อจับจ่ายอยู่ดี เกิดเป็นความต้องการสินค้าที่ลดลงไปกว่าเดิม คนขายก็ต้องรีบตัดขาดทุนให้ทันก่อนที่จะขาดทุนไปมากกว่านี้ อัตราเงินเฟ้อลดลงเนื่องจากการระบายสินค้า ซึ่งถ้าแย่ไปกว่านั้น ในกรณีที่มีต้นทุนที่สะสมมาจากในก่อนหน้านี้ด้วยแล้ว ก็อาจจะตามมาด้วยการปลดพนักงานได้อีก สุดท้าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือภาวะเงินฝืด
ในตอนนี้เอง เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวก็เป็นช่วงที่ Fed ต้องเริ่มหันมาใช้นโยบายในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแทน ซึ่งก็จะดูจากตัวเลข CPI ที่ประกาศมาในแต่ละเดือนอีกที
หมายความว่า ถ้า Michael คิดถูก การที่อัตราเงินเฟ้อลดลงก็จะไม่ใช่เพราะนโยบายของเฟด แต่เป็นการเทขายสินค้าต่างหาก ซึ่งเมื่อปัจจัยชั่วคราวหลายๆอย่างทั้งเรื่องของ COVID-19 รวมไปถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลหายไปแล้วปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อลดลงด้วยตัวมันเอง เหตุการณ์นี้ก็อาจจะนำไปสู่การกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งของตลาดทุนไม่ว่าจะเป็นหุ้น, พันธบัตร, หรือว่าคริปโตฯอีกครั้งได้