จะเกิดอะไรขึ้นหากว่าประเทศไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย !
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเราจะได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของทั้งทาง FED สหรัฐฯ และจากธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อกันมาแล้ว แต่ในด้านของประเทศไทยนั้นก็ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด แล้วถ้าวันดีคืนดีธนาคารกลางประเทศไทยดันประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างนะ?
เริ่มแรกเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) คืออะไร?
โดยถ้าจะให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ มันก็คือเครื่องมือที่ธนาคารกลางในแต่ละประเทศใช้เพื่อกำหนดเพิ่ม-ลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ-ฟืดตามนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ได้กำหนดขึ้นมา
ตัวอย่างเช่น
ในช่วงที่ธนาคารกลางต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ลดอัตราดอกเบี้ย [เพื่อกระตุ้นให้คนอยากถอนเงินออกไปลงทุนและใช้จ่ายมากขึ้น] : ฝากเงินไม่คุ้มเพราะดอกเบี้ยต่ำ / กู้ยืมคุ้มมากเพราะดอกเบี้ยต่ำ เหมือนกู้ฟรีไม่เสียดอกเบี้ย
กลับกันในช่วงที่ธนาคารกลางต้องการหยุดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ
เพิ่มอัตราดอกเบี้ย [เพื่อลดความต้องการในการกู้ยืมและกระตุ้นการฝากเงิน]
: ฝากเงินคุ้มมากเพราะดอกเบี้ยสูง / กู้ยืมไม่คุ้มเพราะดอกเบี้ยสูง
**ปกติแล้วดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ของธนาคาร กับ ดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นคนละอันกัน แต่ดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้มักจะปรับเปลี่ยนไปตามทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายเสมอ
หลายๆ คนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องของเศรษฐกิจมากนักอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่เอาจริงๆ วันนี้จะมาอธิบายให้เข้าใจกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้เพราะมันจะกลายมาเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างแน่นอน
ฝากเงินได้ดอกเบี้ยสูง !
หลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทางธนาคารต่างๆ ในประเทศก็จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้สำหรับคนที่ฝากเงินไว้ในธนาคารนั้นได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่มากขึ้นแถมยังมีความเสี่ยงที่ต่ำด้วยนั้นเอง
พันธบัตรสุดคุ้ม !
ปกติการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือ ตราสารหนี้เอกชน มักจะมีการให้อัตราผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอยู่แล้วการที่ดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นก็จะยิ่งทำให้แนวโน้มผลตอบแทนจากพันธบัตรสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่า !
หากว่าการขึ้นดอกเบี้ยของประเทศไทยมากกว่าฝั่งของสหรัฐอเมริกาก็อาจจะช่วยกระตุ้นให้เงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยได้
กู้ เก็บเจ็บแล้วนะ !
แน่นอนว่าเมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารต่างๆ ก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อคนที่กำลังจะกู้เงินเพื่อซื้อ คอนโด – บ้าน – รถ – คอมพิวเตอร์ – โทรศัพท์มือถือ หรืออะไรก็ตามที่เราต้องผ่อนชำระแล้วมีการเก็บดอกเบี้ย
** สำหรับคนที่กู้มาแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) จะเจ็บแบบเต็มๆ ส่วนสำหรับคนที่กู้มาแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ยังคงสบายใจได้เพราะไม่ได้กระทบอะไร
บริษัทกับผู้ประกอบการ ก็โดนด้วย !
โดยปกติจะมีการกู้ยืมในนามบริษัทหรือนิติบุคคลอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ได้มีการกู้ยืมเงินจากธนาคารมาเพื่อประกอบธุรกิจหรือลงทุนก็จะโดนผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยแบบเต็มๆ
ตกงานคือเรื่องปกติ !
ผลกระทบนี้จะต่อมาจากการที่บริษัทและผู้ประกอบการต้องการที่จะลดต้นทุนของตัวเองให้ได้มากที่สุด ดังนั้นการลดจำนวนพนักงานในบริษัทลงก็เป็นอีกเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงสภาวะการขึ้นดอกเบี้ยที่สูงๆ
ใช้สอยน้อย !
พอคนตกงานกันเยอะขึ้น เงินก็จะหายากขึ้นบวกกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นและสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงคนก็จะซื้อของน้อยลง ลดการใช้จ่าย ฝากเงินเก็บเงินกับธนาคารกันมากขึ้น
หุ้นร่วง !
การที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ทั้งดอกเบี้ยจากการฝากเงินและพันธบัตรซึ่งมีความเสี่ยงต่ำนั้นมีผลตอบแทนสูงขึ้น กระตุ้นให้นักลงทุนหลายๆ คนเรื่องที่จะโยกย้ายเงินมาสู่การฝากเงินและการซื้อพันธบัตรกันมากขึ้น ทางด้านตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงก็จะถูกดึงเงินออกไปเรื่อยๆ
** ยิ่งผลประกอบการไม่ดี เงินปันผลจากหุ้นก็จะยิ่งน้อย ลดความน่าสนใจในการซื้อหุ้นมากขึ้นไปอีก
เจ๊ง จบ ครบทุกอุตสาหกรรม !
สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างของช่วงสภาวะการขึ้นดอกเบี้ยก็คือธุรกิจที่กู้เงินมาเยอะๆ แล้วไม่สามารถจ่ายคืนได้ไหวจนทำให้เกิดการปิดกิจการ หรือ ล่มละลาย สิ่งนี้จะมีให้เห็นเรื่อยๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยผ่านมา ซึ่งก็จะกระทบไปยังเรื่องของปัญหาคนที่ตกงานเพิ่มสูงมากขึ้นไปอีก แล้วคนก็จะยิ่งใช้เงินน้อยลง เศรษฐกิจอื่นๆ ก็จะมีรายรับที่น้อยลง แล้วก็ปลดพนักงานกันเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุน วนเวียนเป็นปัญหาแบบเดิมไปเรื่อยๆ