จะเกิดอะไรขึ้นถ้า Fed เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ?
โดยพื้นฐานแล้วเศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วยเงิน ฉะนั้น ถ้าเกิดต้นทุนของเงินในรูปของอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป การขยายตัวของเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่จะถดถอยลงหรืออาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆในช่วงนี้นั่นก็คือ Recession
หน้าที่หลักๆของ Fed คือการควบคุมให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯอยู่ในระดับที่พอดี ไม่ร้อนแรงเกินไป และไม่ซบเซาเกินไป เอาแค่พอดีๆ ถ้าเกิดเศรษฐกิจเฟื่องฟูมากเกินไป สิ่งที่ตามมาก็คือความเสี่ยงของเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่แตกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของ Fed เลยจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ชะลอเศรษฐกิจให้ค่อยๆกลับมาอยู่ตัวและค่อยๆขยายไปตามแบบที่ควรจะเป็น
ตอนนี้ตลาดกำลังลุ้นว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 1% หรือไม่ในการประชุมวันที่ 26 – 27 กรกฎาคมที่กำลังจะมาถึง หลังจากตัวเลข CPI ล่าสุดสูงถึง 9.1% สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2524 ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเวลาพูดถึงนโยบายการเงินนอกจากเรื่องของดอกเบี้ยนั่นก็คือ เวลา เศรษฐกิจต้องแข็งแกร่งพอที่จะรองรับต้นทุนที่สูงขึ้นในการกู้ยืมจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ ถ้า Fed ตัดสินใจเพิ่มดอกเบี้ยเร็วเกินไป ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2480-81
เพราะการขึ้นดอกเบี้ยหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นในทุกๆอย่าง ธุรกิจกู้ด้วยต้นทุนมากขึ้น ฝั่งคนทั่วไปที่จำเป็นต้องกู้ ไม่ว่าจะค่าบ้าน ค่าบัตรเครดิต หรือแม้กระทั่งค่าเรียน ถ้าเลือกที่จะลงทุนในอะไรก็ตาม ก็หมายถึงความจำเป็นในการแบกรับค่าใช้จ่ายของดอกเบี้ยด้วย
ในตอนนั้น หลังจากที่ Fed ตัดสินใจเพิ่มอัตราเงินสำรองอีกเท่าตัวในปี 2479 สหรัฐฯเจอกับอัตราว่างงานที่สูงถึง 20% และราคาสินค้าลดลง 5% GDP หดตัว 18%
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลกระทบที่ส่งต่อไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก และตามมาด้วยประเทศเล็กๆที่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
ในทางกลับกัน เวลาอาจจะไม่สำคัญถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้อทำให้คนรู้สึกว่าเงินกำลังจะเฟ้อไปมากกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่คนออกนโยบายอย่าง Fed จะต้องเลือกระหว่างภาวะเศรษฐกิจซบเซาในยุค 70s หรือเศรษฐกิจถดถอยในยุค 80s
อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อในรอบนี้เฟ้อสูงขึ้นคืออะไร เพราะในครั้งนี้ ปัญหาหลักคือการขาดแคลนสินค้า แรงงานยังไม่กลับมาสู่ภาคอุตสาหกรรมเท่าที่ควร สินค้ามีไม่เพียงพอแต่มีความต้องการสูงกว่าเลยทำให้ราคาสูงขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ความต้องการลดลงก็จริง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สินค้าขาดแคลนได้ โดยเฉพาะในเรื่องของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่ในตอนนี้ก็เริ่มมีการปรับตัวลงมาบ้างแล้ว
ถ้าหากสามารถแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้ และอัตราเงินเฟ้อค่อยๆชะลอตัว ก็เป็นไปได้ว่า Fed อาจจะไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามที่วางแผนไว้